กทม.เร่งสรุป “LRT บางนา-สุวรรณภูมิ” 2.7 หมื่นล้าน ชงประมูล-สร้างปี’66

อื่นๆ

กทม.เร่งสรุป “LRT บางนา-สุวรรณภูมิ” วงเงิน 27,892 ล้านบาท ชงประมูล-สร้างปี’66

วันที่ 16 ธ.ค. 2564) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาและทดสอบความสนใจของภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding Seminar) โครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 27,892 ล้านบาท

เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงินการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการลงทุนและความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการให้มีความเหมาะสม ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากนักลงทุนภาคเอกชน สถาบันทางการเงิน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนา

ในการสัมมนาครั้งนี้ที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการศึกษาข้อมูลโครงการและรูปแบบการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

โครงการระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีทั้งหมด 14 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะประกอบด้วย ระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร และระยะที่ 2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ จำนวน 2 สถานี ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร

โดยรูปแบบของสถานีแบ่งการออกแบบเป็น 3 ประเภท ดังนี้ ประเภท A สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาเดี่ยว มีจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 7 สถานีศรีเอี่ยม สถานีบางนา-ตราด 6 สถานีบางแก้ว สถานีบางสลุด สถานีกิ่งแก้ว สถานีมหาวิทยาลัยเกริก สถานีสุวรรณภูมิใต้

ประเภท B สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาคู่ จะก่อสร้างในกรณีที่ไม่สามารถวางตำแหน่งเสาเดี่ยวได้ โครงการจำเป็นต้องออกแบบสถานีให้รองรับด้วยโครงสร้างเสาคู่ มีจำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีเปรมฤทัย สถานีกาญจนาภิเษก สถานีธนาซิตี้

ประเภท C สถานีระดับดิน จะออกแบบตามข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ โดยชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับดิน สามารถเดินเชื่อมกับสถานีบางนาของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ด้วยสะพานลอยยกระดับ (Skywalk) มีจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา

สำหรับรูปแบบของการพัฒนาโครงการ เป็นรถไฟฟ้ารางเบา ขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 1 ชั่วโมง, 1 ขบวนสูงสุด มี 4 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000-30,000 คน/ชั่วโมง

โดยคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 2572 จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการประมาณ 56,170 คน-เที่ยว/วัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 113,979 คน-เที่ยว/วัน และในปี 2578 กรณี บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 138,984 คน-เที่ยว/วัน

ทั้งนี้ โครงการได้ดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

1.PPP Net Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด โดยเอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟและก่อสร้างงานระบบ ส่วนช่วงดำเนินการและบำรุงรักษา เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่น ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับโครงการ โดยรัฐให้สิทธิแก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้ และเอกชนจ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งของรายได้แก่รัฐ

2.PPP Gross Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด โดยเอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟและก่อสร้างงานระบบ ส่วนช่วงดำเนินการและบำรุงรักษาเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นที่จำเป็น ส่วนรัฐเป็นผู้รับรายได้ผ่านเอกชนและเป็นผู้กำหนดจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้างตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

3.PPP Modified Gross Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด เอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟและก่อสร้างงานระบบ ส่วนช่วงดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นที่จำเป็น รัฐเป็นผู้รับรายได้ผ่านเอกชนและกำหนดจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาณร่วมลงทุนและได้รับผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมภายใต้กลไกการแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้ตกลงกัน

สรุปผลต้นปี’65 ประมูลปี’67
ปัจจุบันโครงการมีความพร้อมในการดำเนินการสูงโดยกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมได้ภายในต้นปี 2565 พร้อมเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการภายในปี 2566 คาดว่าจะสามารถเปิดให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอประมูลได้ในช่วงปี 2567 ใช้เวลาเวนคืนที่ดินและก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 4 ปี ระหว่าง ปี 2568-2571 คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2572

ทั้งนี้ โครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะช่วยอำนวยความสะดวก พร้อมเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางระบบรางให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีบางนา และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงพัฒนาการ-สำโรง ที่สถานีศรีเอี่ยม และเชื่อมต่อเพื่อเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ที่สถานีสุวรรณภูมิใต้

โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-สุวรรณภูมิเป็นโครงการที่เข้ามาแก้ไขปัญหาบริเวณแยกบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหา