3 สมาคมบ้านนำโดย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ชงกระทรวงการคลัง-มหาดไทย เพิ่มมาตรการโด๊ปอสังหาฯ ปี 2565 ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ขยายลดโอน-จดจำนอง 0.01% เว้นภาษีเปิดทางเอกชนสร้างที่อยู่อาศัยรายได้น้อย เร่งสกัดไวรัสสายพันธุ์ใหม่คาดปีหน้าตลาดโต 10-20% แบงก์มองปีหน้ากู้กระหึ่ม
อสังหาริมทรัพย์ เครื่องตัวยนต์ ตัวใหญ่ ที่รัฐบาลใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ นอกจาก การใส่เม็ดเงินลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน สะท้อนจาก การออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปลายปี 2564 ยาวตลอดทั้งปี 2565 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV การกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19
ให้ได้ตามเป้าหมายรัฐบาล รวมถึงการ การเปิดประเทศ ท่ามกลาง การรับมือการระบาดไวรัสโควิด-19 และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่กังวลว่าจะเข้าระบาดหนักในประเทศไทยหรือไม่ขณะผู้ประกอบการต่างมองว่า เพื่อให้การซื้อขายระบายสต็อกที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรขยาย มาตรการออกไปในระยะยาว และเพิ่มเติมมาตรการใหม่ๆ ดึงดูดผู้ซื้อ
ชงโด๊ปอสังหาฯต่อเนื่อง
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย คนใหม่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี2565 แม้ธุรกิจอสังหาฯจะมีสัญญาณที่ดีแต่ ยังมีปัจจัยลบจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน การระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯต่อเนื่อง โดยสมาคมฯ ร่วมกับสมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เตรียมเสนอ 3 มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯต่อกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยราวสัปดาห์หน้า ทั้งการต่อ อายุ ขยายมาตรการ ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย และค่าจดจำนอง เหลือ 0.01% ที่จะหมดอายุลงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ลดภาษีธุรกิจเฉพาะ
นอกจากนี้จะขอเพิ่มมาตรการใหม่ ลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เหลือ 0.01% เหมือนปี 2553 ซึ่งมองว่าได้ผล เพราะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการนำมาลดแลกแจกแถมให้กับผู้ซื้ออีกต่อ นอกจากนี้ยังต้องการให้มีมาตรการผ่อนผัน การปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการที่ลูกค้าชั้นดี เพราะแม้มีมาตรการคลายล็อก LTV แต่ในที่สุดแล้วสถาบันการเงินจะมองที่ขีดความสามารถในการผ่อนชำระเป็นเกณฑ์ โครงการใดมีลูกค้าผิดนัดชำระเงินกู้มากก็จะเป็นภาพลบสำหรับโครงการหรือบริษัทนั้น
เวฟภาษีลุยบ้านรายได้น้อย
ขณะเดียวกันมาตรการระยะยาว ต้องการให้รัฐบาลยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีนิติบุคคล ฯลฯ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปช่วยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) พัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทเช่า โดยนำต้นทุนจากการยกเว้นภาษี มาจัดหาที่ดินทำเลในเมืองช่วยให้สะดวกมากขึ้นประเมินว่าหากรัฐบาลออกมาตรการใหม่ๆ ต่อเนื่องจะช่วยให้ตลาดอาสังหาฯ ในปี2565เติบโตขึ้นประมาณ10-20% จากมูลค่าตลาดรวม7แสนล้านบาท
ปลุกอสังหา ดันเศรษฐกิจ ชงลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ต่อเวลาลดค่าโอน-จดจำนอง
รัฐเจ้าภาพปลุกศก.
นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี. เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนฯ และจดจำนองของรัฐบาล ช่วยปลดล็อกให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้บริโภคช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้นขณะสัญญาณการปลด LTV ลงของ ธปท. ช่วงก่อนหน้า นับเป็นจุดเริ่มต้นเชิงบวกของทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงปี 2565 ที่จะปลุกดีมานด์เก่าและใหม่ให้กลับเอามาในระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกข้างต้นอาจไม่เพียงพอ จึงเห็นด้วยที่รัฐบาลควรออกมาตรการอื่นๆ มาสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น การยืดมาตรการลดภาษีการโอนฯ ออกไปก่อน ร่วมกับการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ 3 สมาคมอสังหาฯ ยื่นข้อเรียกร้องไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว นอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศการซื้อ-ขายที่ดี คาดคนที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงสูงสุด ก็คือผู้บริโภคนั่นเอง
ปลดล็อกLTVยื่นกู้กระหึ่มปี65
ส่วนมาตรการ LTV ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายเป็นการชั่วคราว นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวว่า มาตรการ LTV เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งในการปล่อยกู้ของธนาคารหลักๆธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ โดยดูอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ด้วย ส่วน LTV รอบนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายสำหรับคนที่มีกำลังซื้อจริงๆ ซึ่ง ธปท. ทำให้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อไม่เป็นอุปสรรคจากเดิมไม่ให้เกิน 90%
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้น ดีมานด์ในประเทศ ผลักดันภาคธุรกิจอสังหาฯ ให้กลับมาสดใส และเป็นแรงช่วยผลักดันการจ้างงาน กระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
กลางธ.ค.เห็นภาพเร่งโอน
นายณัฐพล พร้อมลือชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรี อยุธยา กล่าวว่า ปกติปลายปีจะมีปัจจัยเร่งโอนโครงการที่สร้างเสร็จแล้วเข้ามาในระดบหนึ่ง แต่ตัวเลขการโอนจะเห็นราวกลางเดือน ธ.ค. เพราะคนจะทำธุรกรรมจดจำนองมากช่วง 1-2 วันก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน จากนั้นราว 1-2 สัปดาห์ก็จะเห็นภาพการโอนที่อยู่ชัดขึ้น
เนื่องจากปีนี้ยอดเปิดโครงการใหม่น้อย ทุกคนพยายามจะเคลียร์สต๊อกแนวราบ แนวสูง ซึ่งหลายโครงการที่จับกลุ่มระดับกลางและบนก็เห็นการเติบโต แต่โครงการที่สร้างเสร็จพร้อมขาย (ช่วงต้นและกลางโควิด) 1-3 ปียอดโอนอาจจะวิ่งช้า เพราะโครงการราคา 3 ล้านบาทจะมีชะลอโอนเนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ประกอบการนำมาทำตลาดใหม่ เมื่อเทียบกับโครงการก่อสร้างเสร็จใหม่ก็จะมีความแตกต่างของความสดใหม่
ในส่วนกรุงศรียังทำงานต่อเนื่องกับดีเวลลอปเปอร์ระยะยาวไม่ได้เพิ่มหรือลดลง แต่ปีนี้วัตถุประสงค์ใหญ่ของการทำธุรกิจ 2 เรื่องคือ ช่วยลูกค้าที่ประสบภาวะโควิดให้สามารถที่จะประคองตัวเองผ่านวิกฤติ และการคัดกรองลูกค้าที่มีความพร้อมมีการวางแผนในการซื้อบ้าน ไม่ใช่กระโจนซื้อโดยไม่มีความพร้อม สุดท้ายจะสร้างปัญหาระยะยาว ดังนั้นปีนี้จึงไม่มุ่งเน้นเป้ายอดขาย
ไตรมาส 4 สินเชื่อโตสูงสุด
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ไตรมาส 4 จะเป็นช่วงสินเชื่อบ้านจะเติบโตได้สูงสุด เพราะผู้ประกอบการทำแคมเปญเร่งการซื้อและตัดสินใจโอนปีนี้มาตรการ LTV ที่ผ่อนเกณฑ์ให้ราคาบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 ส่วนใหญ่รายได้ปานกลาง-สูง มีศักยภาพและเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงไม่สูง ซึ่งแนวโน้มน่าจะเห็นกลุ่มนี้เข้ามามากขึ้น