สธ.ชี้ยังไม่มีติดโอไมครอนแล้วดับ แต่แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ไทยถือเป็นประเทศที่ 47 ที่เจอ ระบุโควิดเริ่มเหมือนหวัดใหญ่ ใกล้เป็นโรคประจำถิ่น
วันที่ 6 ธ.ค.64 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และสายพันธุ์โอไมครอนว่า สถานการณ์ทั่วโลกยอดติดเชื้อหลังระบาดใหญ่มาเกือบ 2 ปี มีผู้ป่วยยืนยัน 266 ล้านคน ติดเชื้อใหม่ยังสูง 4-5 แสนคน ทวีปอเมริกาและยุโรปเป็นจุดใหญ่ระบาดช่วง ธ.ค.นี้ ส่วนผู้เสียชีวิต 5.27 ล้านคน อัตราเสียชีวิตลดลงจาก 2% กว่า เหลือ 1.98% เพราะมีความรู้ดูแลรักษาดีขึ้น มียารักษาดีขึ้น และวัคซีนทำให้ลดอาการรุนแรง
ส่วนเอเชียแนวโน้มลดลง ยกเว้นเวียดนามและเกาหลีใต้ ที่มีแนวโน้มสูงอยู่ ส่วนไทยติดเชื้อใหม่ 4,000 คน มาจากต่างประเทศ 7 คน ติดเชื้อในประเทศ 3,993 คน หายป่วย 6,450 คน ถือว่าหายมากกว่าติดเชื้อใหม่มาเกือบเดือน อาการหนักเหลือ 1,259 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 330 คน แนวโน้มลดลง
ส่วนเสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ วันนี้รายงาน 22 คน การฉีดวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต แม้ส่วนใหญ่คนรับวัคซีนแล้ว แต่มีคนไม่น้อยกังวลผลข้างเคียง ทั้งนี้ เรามีวัคซีนมากพอ บูสเตอร์เข็ม 3 มาเกือบ 4 ล้านคนแล้ว คนที่ยังลังเลใจ ขอมาช่วยกันฉีดวัคซีนจะได้ปลอดภัย อัตราเสียชีวิตจะได้ลดน้อยลงมากที่สุด
นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์การระบาดในยุโรปและอเมริกามีมาก ดังนั้น การเปิดประเทศเราจึงคัดกรองผู้เดินทางค่อนข้างรัดกุม ผ่าน 3 ระบบ คือ Test&Go ในผู้เดินทาง 63 ประเทศ หากไม่พบเชื้อเดินทางได้ภายใต้การติดตาม เงื่อนไขคือฉีดวัคซีนครบ มีผลตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ระบบแซนด์บ็อกซ์ และระบบกักตัว ซึ่งระบบ Tes5&Go และแซนด์บ็อกซ์ เราตรวจพบอัตราติดเชื้อ 0.02% ซึ่งจากความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน จึงช่วยกันควบคุมการเกิดโรคไม่ให้เกิดการระบาดในไทยได้ดี
ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ของโควิดเราพบตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือกลายพันธุ์แล้วทำให้แพร่เร็วขึ้น รุนแรงมากขึ้น ดื้อต่อยารักษายา และวัคซีนประสิทธิภาพลดลงหรือไม่ ที่ผ่านมามีการกลายพันธุ์ที่สำคัญ 4 ตัว คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งไทยเจอ 3 สายพันธุ์ ตอนนี้คือเดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก ที่ระบาดเร็ว อาการรุนแรงมากขึ้น วัคซีนลดประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต
ส่วนที่ประกาศล่าสุด คือ โอไมครอน ซึ่งเรียกได้ทั้ง โอมิครอน หรือ โอไมครอน ถือว่าผ่านไป 1 ปีเพิ่งมีสายพันธุ์ที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม
นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้รูปแบบการะบาดของโควิดจะใกล้เคียงหวัดใหญ่ในอดีต ที่เมื่อระบาดเยอะๆ จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงดูลดน้อยลง อย่างโอไมครอน เมื่อติดตามทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่ายังไม่มีเสียชีวิตจากสายพันธุ์นี้แม้แต่รายเดียว ซึ่งตรงกับหลายหน่วยงานที่ระบุว่า ความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอน น้อยกว่าเดลตามาก
สำหรับต้นกำเนิดโอไมครอนเกิดที่แถบแอฟริกาใต้ เมื่อปลายต.ค.-ต้นพ.ย. มีการพุ่งขึ้นของผู้ป่วย จึงไปดูรหัสพันธุกรรมพบมีการกลายพันธุ์ จึงรายงานองค์การอนามัยโลก เพื่อเตือนประชาชนทั่วโลกว่าพบสายพันธุใหม่ มีการประกาศจับตาใกล้ชิด
ซึ่ง 1 เดือนทั่วโลกมีการหาสายพันธุ์นี้ ขณะนี้พบ 46 ประเทศ ล่าสุดเติมประเทศไทยเป็นประเทศที่ 47 แต่ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งมีในแถวแอฟริกาใต้ กับการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งไทยเป็นการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้ามา และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอไมครอน
“หลังรับทราบสายพันธุ์โอไมครอน ประเทศไทยเพิ่มมาตรการห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศแถบแอฟริกาใต้ งดการเดินทางผู้มาจากแอฟริกาทั้งทวีป และคนเข้ามาแล้วจากต่างประเทศให้ตรวจหาเชื้อโอไมครอนทุกราย เพื่อหาผู้ป่วยรวดเร็ว ส่วนกรณีข่าวผู้ป่วยที่สถาบันบำราศนราดูรมีสายพันธุ์โอไมครอน เป็นหญิงแอฟริกัน ตรวจพบสายพันธุ์เดลตา อาการปกติดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง” นพ.โอภาสกล่าว
ส่วนเคสยืนยันสายพันธุ์โอไมครอนรายแรก เป็นชายอเมริกันอายุ 35 ปี อาศัยอยู่สเปน 1 ปี เป็นนักธุรกิจ ไม่มีอาการ มีผลตรวจ RT-PCR วันที่ 28 พ.ย.ไม่พบ จึงเดินทางมาไทยวันที่ 29 พ.ย. มาถึงตรวจอีกครั้งโดยพบเชื้อวันที่ 1 ธ.ค. ส่งยืนยันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเข้ารับการรักษา รพ.แห่งหนึ่ง พบว่าอาการน้อยมาก แทบไม่มีอาการ ซึ่งคนนี้ไม่มีอาการ ปฏิเสธโรคประจำตัว และไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
ตอนแรกรับอาการทุกอย่างปกติ ทั้งผลเอกซเรย์ ผลเลือดปกติ แต่ตรวจเจอเชื้อ จากการไปตรวจสอบบุคคลนี้ระวังตัวเองสูง ใส่หน้ากากตลอดเวลา จึงไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ขณะนั่งเครื่องบินก็นั่งคนเดียว ไม่ได้นั่งติดกับคนข้างๆ อยู่โรงแรมในระบบ Test&Go ก็ใส่หน้ากากตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม คนที่เคยมีประวัติเจอบุคคลนี้เราจะสอบสวนทุกคน และตรวสอบหาเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 19 คนที่เคยมีประวัติเจอ เป็นพนักงานโรงแรม 17 คน พนักงานสนามบิน 2 คน ทุกคนอาการปกติ ไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติม แต่จะติดตามจนครบระยะฟักตัวของโรค
“สายพันธุ์โอไมครอนดูแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้ายไข้หวัดใหญ่ แยกยากจากสายพันธุ์อื่น ทั้งอัลฟา เบตา เดลตา และแกมมา ที่มีรายงานในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ยังไม่มีรายงานติดเชื้อโอไมครอนเสียชีวิต ดังนั้น มาตรการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ
ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งไทยฉีดแล้ว 95 ล้านกว่าโดส เข็ม 1 ครอบคลุมคนไทยเกิน 75% แล้ว เข็ม 2 เกิน 60 กว่า% และเริ่มบูสต์เข็ม 3 แล้ว ให้รอประกาศจาก กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งว่าฉีดครบ 2 เข็มเดือนไหน เมื่อไรมาฉีดบูสเตอร์อีกครั้ง คาดว่าธ.ค. 64 – ม.ค. 65 จะเร่งฉีดบูสเตอร์ให้มากที่สุด” นพ.โอภาสกล่าว
นอกจากนี้ ใช้มาตรการเดียวควบคุมการระบาดไม่ได้ ยังต้องใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง COVID Free Setting และการตรวจ ATK รวมถึงยังยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศและสถานที่ท่องเที่ยว อย่างระบบ Test&Go ที่จะเปลี่ยนเป็นการตรวจ ATK ก็ยังคงตรวจ RT-PCR ต่อไป กรณีป่วยไข้หวัดที่เป็นกลุ่มก้อน ก็เน้นย้ำสอบสวนให้ละเอียด และทุกคนที่สงสัยให้ไปตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอน
นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อมูลโควิดมีมากมาย ส่วนใหญ่เป็นความเห็นความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง กระทรวงสาธารณสุขจะรวบรวมข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญมาให้ทราบ ทั้งนี้ การติดต่อของโอไมครอน ไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น ยังติดต่อผ่านละอองฝอยเป็นหลัก ส่วนการติดต่อผ่านทางอากาศเจอได้น้อยมากในบางกรณี เช่น ห้องอับ ห้องที่มีการแพร่กระจายเชื้อสูงเท่านั้น ไม่มีการแพร่ระบาดผ่านทางอากาศแบบทั่วไป ส่วนวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหนไม่สามารถป้องกันติดเชื้อได้ 100% แต่ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่
จากการวิเคราะห์ข้อมูล ไทยเป็นประเทศที่ใช้วัคซีนหลากหลายยี่ห้อ ประสิทธิผลวัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อระดับ 50-80% แต่ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดีมาก 90% ขึ้นไป ฉะนั้นเมื่อพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ต้องพูดถึง 2 ส่วน คือ การป้องกันการติดเชื้อ และการลดความรุนแรงของโรค ซึ่งทั่วโลกเห็นตรงกันว่าวัคซีนที่ฉีดไปป้องกันมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ดี ส่วนการป้องกันติดเชื้อประสิทธิภาพลดน้อยลง แต่ก็ดีกว่าการไม่ฉีดวัคซีนเลย
“สายพันธุ์โอไมครอนเราพบเป็นรายแรก ข้อมูลขณะนี้แม้ยังไม่มากนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สายพันธุ์นี้ดูเหมือนระบาดได้ง่ายขึ้น วิธีการป้องกันสำคัญ คือ คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนขอให้มารับวัคซีน ส่วนใครที่รับวัคซีน 2 เข็มหลายเดือนแล้วให้รอฟังประกาศอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ยังเป็นมาตรการสำคัญ
เป็นมาตรการส่วนบุคคลที่ทุกคนจะช่วยในการป้องกันการติดเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์ แม้สายพันธุ์โอไมครอนจะมีข่าวเยอะ แต่องค์การอนามัยโลกย้ำว่ามีการระบาดมาตั้งแต่ พ.ย. ผ่านมาเดือนกว่ายังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอมไครอนแม้แต่รายเดียวทั่วโลก ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการที่ กระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้ทราบ” นพ.โอภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแพร่เร็วแต่อาการไม่รุนแรง แสดงว่าไม่ต้องกังวลมาก และโควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า โควิดใกล้จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่เรายังต้องกังวลอยู่ แต่ไม่อยากให้กังวลมาก